Google

Tuesday, October 6, 2009

Boundaries

เขตแดน,แนวพรมแดน

ขอบเขตจำกัดที่รัฐใช้อำนาจศาลเหนือดินแดน เขตแดนหรือแนวพรมแดนที่ใช้แบ่งเขตอำนาจศาลมิใช่จะเกี่ยวข้องเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นผิวโลกเท่านั้น แต่ทว่าจะเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็นน้ำ(เรียกว่าน่านน้ำอาณาเขต) ส่วนที่เป็นอากาศ(เรียกว่าน่านฟ้า) และส่วนที่เป็นทรัพยากรใต้พื้นดิน เขตแดนหรือพรมแดนนี้อาจจะถูกกำหนดขึ้นโดยการเจรจา การอนุญาโตตุลาการ คำวินิจฉัยของศาล การออกเสียงประชามติ การจัดสรรให้โดยองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ เป็นต้น หรือเป็นการโอนให้โดยการซื้อหรือโดยสงคราม เขตแดนหรือแนวพรมแดนนี้มีอยู่หลายประเภทและมีการแบ่งตามเหตุผลต่างๆดังนี้ คือ (1) เขตแดนหรือแนวพรมแดนที่แบ่งแยกกันตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น แม่น้ำ ภูเขา เป็นต้น (2) เขตแดนหรือพรมแดนที่แบ่งแยกตามวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างชุมชนที่ใช้เป็นพื้นฐานแยกพรมแดนระหว่างอินเดีย(ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบฮินดู) กับปากีสถาน(ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบมุสลิม) (3) เขตแดนหรือพรมแดนที่พิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์และการเมือง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของหลายรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเขตแดนหรือพรมแดนของรัฐต่างๆเหล่านี้มีการจัดแบ่งกันโดยชาติมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมจากทวีปยุโรป และ (4) เขตแดนหรือพรมแดนที่จัดตั้งขึ้นมาโดยพิจารณาในแง่ดุลยภาพทางทหาร ตัวอย่างเช่น พรมแดนระหว่างอิสราเอลกับหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้

ความสำคัญ เขตแดนหรือพรมแดนนี้เป็นสัญลักษณ์ของเอกราชและอำนาจของชาติ และเป็นที่มาของความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย ตัวอย่างกรณีเขตแดนหรือแนวพรมแดนที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน เช่น พรมแดนระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับเยอรมนีตะวันตก((ก่อนรวมเป็นประเทศเดียว) พรมแดนระหว่างอิรักกับอิหร่าน พรมแดนระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีน พรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย พรมแดนระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย จอร์แดน และอียิปต์ พรมแดนระหว่างโซมาเลียกับเอธิโอเปียและคีนยา ความสำคัญของพรมแดนของชาติในแง่ของการป้องกันชาตินั้นจะแตกต่างกันไปตามระดับของเทคโนโลยีทางการทหารที่เกี่ยวข้อง พรมแดนที่มีลักษณะเป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ หรือเป็นห้วยหนองคลองบึงต่างๆนั้น อาจจะพิจารณาว่ามีความสำคัญในกรณีที่เป็นสงครามในรูปแบบปกติ คือ จะมีความสำคัญไปช่วยจำกัดความรุนแรงเมื่อมีการปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางอากาศได้ แต่จะไม่มีความสำคัญใดๆเลยหากเป็นการใช้ยิงด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์

Buffer State

รัฐกันชน

รัฐอ่อนแอตั้งอยู่ระหว่างหรือที่พรมแดนของรัฐที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงให้แก่รัฐที่เข้มแข็งนั้น รัฐกันชนต่างๆมักจะอยู่ได้โดยความอนุเคราะห์ของรัฐเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งต้องการจะให้เป็น”เขตกันกระทบ” ระหว่างรัฐที่มีอำนาจมากนั้นกับรัฐที่เป็นคู่แข่ง

ความสำคัญ รัฐกันกระทบต่างๆจะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารของเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมาก และจะทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับใหญ่โดยวิธีช่วยลดโอกาสการเผชิญหน้าและการขัดแย้งโดยตรงระหว่างรัฐที่มีอำนาจมากกับรัฐคู่แข่งขันนั้น ดังจะเห็นได้ว่า เป็นเวลาช้านานแล้วที่อัฟกานิสถาน ทิเบต และเปอร์เซียได้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของอังกฤษ โดยเป็นรัฐกันชนระหว่างอินเดีย(ของอังกฤษ) กับรัสเซีย และนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา รัฐต่างๆในแถบยุโรปตอนกลาง มักได้ชื่อว่าเป็นเขตรัฐกันชนระหว่างยุโรปตะวันตกกับสหภาพโซเวียต หรือในทางกลับกันก็เป็นเช่นเดียวกัน

Demographic Cycle

วงจรทางประชากรศาสตร์

กระแสของการเปลี่ยนแปลงในการเกิดและการตาย ที่ส่งผลกระทบต่อขนาดและส่วนประกอบของสังคม ขณะที่สังคมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี วงจรทางประชากรศาสตร์นี้จะดำเนินไปใน 3 ขั้นตอนดังนี้ (1) ขั้นตอนที่ดำเนินจากฐานก่อนที่จะพัฒนาเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงนี้จะมีเสถียรภาพทางด้านประชากรเมื่อเทียบกับขั้นตอนอื่น (2) ขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ขั้นตอนที่ประชากรล้นประเทศ (2) ขั้นตอนสุดท้าย คือ ขั้นตอนที่อัตราการเติบโตของประชากรเชื่องช้าลง ประชากรมีเสถียรภาพ และในบางประเทศอาจจะถึงกับมีจำนวนประชากรลดลงด้วยซ้ำไป


ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์นั้น ขั้นตอนต่างๆในวงจรทางประวัติศาสตร์นี้ จะมีความเชื่อมโยงกับระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆที่การปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้นแล้วนั้น ได้แสดงออกมาให้เราเห็นว่า ถึงแม้ว่าการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมนี้จะเอื้อประโยชน์สามารถเกื้อหนุนประชากรได้จำนวนมากๆและทำให้คนเหล่านี้มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นได้ก็จริง แต่ทว่าเมื่อมีการปรับปรุงความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจขึ้นมาแล้วนี้ ในที่สุดจะส่งผลให้อัตราการเกิดของประชากรลดลงมา จากประสบการณ์นี้เองทำให้ประเทศต่างๆที่มีประชากรล้นประเทศต่างหันมาเน้นย้ำให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ให้มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม จากการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมากและเกิดการปฏิวัติความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นมามากในขณะเดียวกันในสังคมต่างๆทั่วโลก จึงประกอบกันเป็นเรื่องสร้างความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นแก่ประเทศที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม แก่องค์การในระดับภูมิภาค และแก่องค์การชำนัญพิเศษต่างๆของสหประชาชาติ จากการสังเกตเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีวงจรทางประวัติศาสตร์ทำงานอยู่ดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่องค์การต่างๆทั่วโลกสามารถพยากรณ์ผลที่จะตามมาจากแนวโน้มทางประชากรศาสตร์ในปัจจุบันนี้ได้ ส่วนการที่จะสามารถพัฒนานโยบายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ให้สัมพันธ์กันระหว่างประชากรกับสภาพแวดล้อมได้สำเร็จหรือไม่นั้น ก็จะเป็นปัญหาสำคัญในระยะยาวที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้

Demographic Cycle : Stage One

วงจรทางประชากรศาสตร์ : ขั้นตอนที่ 1

แบบขั้นตอนทางประชากรศาสตร์ช่วงก่อนที่จะมีการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะมีลักษณะพิเศษ คือ ทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตายจะสูง ในขั้นตอนที่ 1 นี้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะต่ำมาก(คือ ประมาณ 30 ปี) อัตราการตายของเด็กทารกจะสูงมากและการเพิ่มของประชากรมีลักษณะคงที่ไปเรื่อยๆ ลักษณะของประชากรในแบบก่อนจะมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมนี้ ก็คือสังคมตะวันตกในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสังคมดั้งเดิมของทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาในช่วงก่อนทศวรรษปี 1930

ความสำคัญ สังคมในขั้นตอนที่ 1 นี้จะมีลักษณะที่อัตราการเติบโตของประชากรอยู่ในระดับต่ำด้วยเหตุผลดังนี้ คือ มาตรฐานการครองชีพต่ำ เศรษฐกิจเป็นแบบเกษตรกรรมพอเพียง มาตรฐานทางโภชนาการยังไม่ดี ไม่มีการใช้ยารักษาโรคสมัยใหม่ และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ส่วนระบบครอบครัวที่สังคมต้องการ คือ ระบบครอบครัวใหญ่มีลูกหลานมากๆเพราะต้องการแรงงานเด็กให้มาช่วยทำงานในครอบครัวบ้าง ให้เด็กมาช่วยเลี้ยงดูในเวลาที่มารดาบิดาแก่เฒ่าแล้วบ้าง นอกจากนี้แล้วที่ต้องการให้มีลูกเกิดมามากๆนั้นก็เพราะเด็กจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพราะโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนจึงจำเป็นต้องต้องมีลูกไว้มากๆเป็นการเผื่อไว้นั่นเอง ในสังคมตามขั้นตอนที่ 1 นี้จะมีลักษณะอย่างอื่นๆอีก คือ คนจะแต่งงานกันเมื่อตอนที่อายุยังน้อยๆ สถานภาพของสตรีจะด้อยกว่าบุรุษ และคนอ่านออกเขียนได้มีเกณฑ์อยู่ในระดับต่ำมาก ในปัจจุบันสังคมตามขั้นตอนที่ 1 นี้ได้หมดสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว และสังคมเหล่านี้ได้เคลื่อนไหวเข้าสู่ขั้นตอนทางประชาศาสตร์ขั้นตอนที่ 2 แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของชาติต่างๆเองบ้าง จากความพยายามในระดับนานาชาติบ้าง

Democratic Cycle : Stage Two

วงจรทางประวัติศาสตร์ : ขั้นตอนที่ 2

แบบของวงจรทางประชากรศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ประชากรล้นประเทศ ในขั้นตอนที่ 2 นี้ อัตราการเกิดจะสูงแต่อัตราการตายจะลดลงมาก ซึ่งก็จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว อธิบายความได้ว่า เมื่ออัตราการตายของคนในวัยทารกลดลงมากๆก็จะส่งผลให้มีคนในวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นมามาก เมื่อมีคนในวัยหนุ่มสาวมากเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อไปให้มีการผลิตลูกขึ้นมามาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอัตราเพิ่มของคนตามธรรมชาติก็จะสูงตามขึ้นไปด้วย แต่เนื่องจากว่าอายุขัยของคนมิได้เพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใดจึงมีแนวโน้มว่าสังคมจะประกอบไปด้วยคนหนุ่มคนสาวแทบทั้งนั้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีชนิดเดียวกันที่ได้ช่วยสร้างสังคมให้เป็นอุตสาหกรรมนั้น ก็จะเป็นตัวการไปทำให้ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นมา โดยจะไปทำให้อัตราการตายลดลงมาเรื่อยๆทั้งนี้เพราะได้มีการปรับปรุงด้านยารักษาโรคและด้านสุขอนามัยนั่นเอง

ความสำคัญ ขั้นที่ประชากรล้นประเทศ หรือขั้นตอนที่ 2 ของวงจรทางประชากรศาสตร์นี้ เมื่อผนวกเข้ากับการเกิดการปฏิวัติทางด้านการคาดหวังสูงขึ้นๆด้วยแล้วนี้ ก็ยิ่งประกอบกันเข้าเป็นปัญหาที่รุนแรงทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติเลยทีเดียว ผู้คนในประเทศต่างๆเหล่านี้มิใช่ว่าจะมีเฉพาะคนที่เรียกร้องสิ่งดีๆให้แก่ชีวิตมากยิ่งกว่าแต่ก่อนเท่านั้น แต่ยังมีพวกที่ต้องการจะให้รีบเร่งปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นซึ่งพวกนี้ก็มีมากกว่าแต่เดิมอีกเหมือนกัน เมื่อเส้นเคิร์ฟการคาดหวังของคนเหล่านี้ขึ้นสูงรวดเร็วกว่าเส้นเคิร์ฟของสิ่งที่พวกเขาได้รับการตอบสนอง ก็จึงได้เกิดช่องว่างระหว่างเส้นทั้งสองนี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น”ช่องว่างของความไม่สมหวัง”ก็น่าจะได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมาพร้อมๆกับที่การคาดหวังของคนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นมาในขณะเดียวกันนี้ ก็จะก่อให้เกิดสภาวะการตึงตัวระหว่างทรัพยากรที่มีอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดหาให้ตามความเรียกร้อง ซึ่งรัฐบาลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็คือรัฐบาลของรัฐที่เกิดใหม่และยังขาดประสบการณ์นั่นเอง ปัญหาและความข้องขัดใจที่เป็นผลมาจากประเด็นนี้ก็คือ (1) เกิดความตึงเครียดความสับสนวุ่นวายภายในเพิ่มขึ้นและมีรัฐประหารบ่อยครั้งชึ้น (2) มีการปฏิบัติการระหว่างประเทศที่ขาดความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนมวลชน(เป็นการชั่วคราว) จากปัญหาภายในประเทศ และ(3) มีการบีบประเทศพัฒนาแล้วให้มาช่วยเหลือในแผนพัฒนาประเทศในปริมาณมากๆแต่ก็ทำด้วยความระมัดระวังเพื่อมิให้เป็นการไปกระตุ้นคนในประเทศให้ต่อต้านประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ในขณะเดียวกันนั้นด้วย ช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาก็จะขยายกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศติดตามมา แต่ด้วยเหตุที่คนอยู่ในวัยทำงานมีจำนวนลดลงตั้งแต่แรกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นคนที่จะทำงานเพื่อผลผลิตมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นได้นั้นก็จะต้องทำงานหนักกว่าพวกที่อยู่ในวงจรประชากรศาสตร์อีก 2 ขั้นตอนนั้น นอกจากนี้แล้วคนหนุ่มคนสาวที่หางานทำไม่ได้จะมีสัดส่วนสูงขึ้นมากในสังคมขั้นตอนที่ 2 นี้ ซึ่งก็จะเป็นตัวการไปเพิ่มระดับความตึงเครียดและแรงผลักดันให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมาได้

Demographic Cycle : Stage Three

วงจรทางประชากรศาสตร์: ขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 ในแบบของวงจรทางประชากรศาสตร์จะมีลักษณะพิเศษ คือ อัตราการเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรจะลดลง ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับขั้นตอนที่ 2 ข้างต้น กล่าวคือ ตามขั้นตอนที่ 2 นั้นอัตราการเกิดจะยังคงสูงอยู่ต่อไปแต่อัตราการตายจะลดลงมาก ส่วนในขั้นตอนที่ 3 นี้อัตราการตายจะค่อยลดลงแต่อัตราการเกิดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ผลก็คืออายุเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มขึ้นมามาก ส่วนการที่อัตราการเกิดลดลงนี้ก็เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงในทัศนะและในสถาบันทางสังคมต่างๆทำให้การมีครอบครัวใหญ่ๆเป็นที่ต้องการน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ในขั้นตอนที่ 3 ของวงจรทางประชากรศาสตร์นี้มีความสัมพันธ์กับสังคมที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว ตัวอย่างเช่น สังคมในสหภาพโซเวียต สังคมในสหรัฐอเมริกา สังคมในญี่ปุ่น และสังคมในยุโรป

ความสำคัญ ประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมในขั้นตอนที่ 3 ของวงจรประชากรศาสตร์นี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีมาตรฐานการครองชีพสูง ทั้งนี้เนื่องจากว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของความฟุ่มเฟือยต่างๆ ในด้านการศึกษา และในด้านการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้แล้วงบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้ในโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆก็จะถีบตัวสูงขึ้นมากด้วย ในประเทศต่างๆเหล่านี้ค่าใช้จ่ายที่จะต้องสิ้นเปลืองไปกับเด็กและเยาวชนที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้นั้น อาจจะถือว่าเป็นการลงทุนในอนาคตได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองไปกับกรณีของคนชรานั้นก็จะสูงขึ้นมามากและถือว่าเป็นหนี้สินทางสังคม นอกจากนี้แล้วประเทศต่างๆที่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 นี้จะมีสังคมที่พวกคนในวัยทำงาน(มีอายุระหว่าง 15 –65 ปี) มีสัดส่วนมากกว่าในประเทศที่อยู่ใน 2 ขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ถึงแม้ผลิตภาพของแรงงานจะสูงก็จริงแต่เนื่องจากมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการนำเอาเครื่องจักรกลมาใช้ ก็จะทำให้การว่างงานมีอัตราสูงมาก เมื่อมีคนตกงานมากก็จะเกิดความเครียดและความวุ่นวายในสังคมตามมา ซึ่งก็จะเป็นตัวการไปทำลายขีดความสามารถทางด้านสร้างสรรค์ของผู้นำทางสังคมและของผู้นำภาครัฐบาล และจากการที่อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัมพันธภาพทางอำนาจ กล่าวคือ เมื่อประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องมาพบกับปัญหาจำนวนประชากรของตนลดลงแต่ในขณะเดียวกันประชากรของประเทศทั้งหลายเกือบจะทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งในทรัพยากรโลกให้ได้มามากๆเหมือนชาติอื่นๆได้

Geographic Power Factor : Climate

ปัจจัยพลังอำนาจทางภูมิศาสตร์ : ภูมิอากาศ

ผลของสภาวะทางอากาศที่มีต่อพลังอำนาจชาติ สภาวะทางอากาศของรัฐหนึ่งรัฐใดส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดโดยลักษณะของลม ความเร็วของลม และอุณหภูมิของอากาศเป็นหลัก ในทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราได้เห็นว่า การที่จะพัฒนาพลังอำนาจชาติให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้นั้นจะทำได้เฉพาะในชาติที่อยู่ในภูมิภาคซึ่งมีสภาวะทางอากาศอย่างกลางๆพอสบายๆไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดนัก สภาวะทางอากาศที่ผิดแผกไปจากนี้มีทางเอาชนะได้ก็พอมีบ้าง แต่ถ้าเป็นกรณีที่สภาวะทางอากาศเป็นแบบสุดโต่งคือจ้อนจัดและหนาวจัดเสียแล้ว ชีวิตมนุษย์จะดำรงอยู่ได้ในสภาวะอากาศเช่นนี้ได้ ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมนุษย์สิ้นเปลืองมากกว่ากรณีที่อยู่ในภูมิภาคซึ่งมีภูมิอากาศแบบกลางๆ

ความสำคัญ ภูมิอากาศน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในบรรดาองค์ประกอบอำนาจทางภูมิศาสตร์ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถของสังคมที่จะทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร และประกอบกิจการงานต่างๆ ผลของภูมิอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้บ้างเหมือนกันแต่ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ผืนแผ่นดินมีสภาพแห้งแล้งขาดฝน ก็อาจใช้ระบบชลประทานเข้ามาช่วยได้ ส่วนในกรณีที่น้ำมีความเค็มใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกไม่ได้ ก็ใช้วิธีกลั่นให้เป็นน้ำจืดเสียก่อนอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งวิธีการทั้งสองอย่างนี้จะทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคในเรื่องขาดแคลนน้ำฝนได้ นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสามารถปรับปรุงสภาพการทำงานในภูมิภาคต่างๆที่มีอากาศหนาวเย็นมากๆของโลกได้อีกเหมือนกัน อย่างเช่นเดี๋ยวนี้ได้มีการพัฒนาธัญพืชและสัตว์ที่จะนำมาใช้เป็นอาหาร ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สามารถทนทานต่ออุณหภูมิที่หนาวจัดหรือร้อนจัดได้ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการควบคุมโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีการปรับปรุงโภชนาการ มีการใช้ทักษะทางเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีการจัดตั้งกองทุนการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนี้ได้ช่วยเสริมพลังของมนุษย์ในประเทศเขตเมืองร้อนที่ครั้งหนึ่งภูมิภาคในเขตนี้ทำให้คนเชื่อยชา ให้กลายมาเป็นคนกระฉับกระเฉง สามารถเพิ่มผลผลิตต่างๆมากยิ่งขึ้น ไม่อยู่ในระดับพอเป็นเครื่องยังชีพเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมมนุษย์มากที่สุดก็คือ ภูมิอากาศในเขตที่เป็นกลางๆอยู่ในระหว่างเส้นองศาเหนือและใต้ที่ 20 ของเส้นศูนย์สูตร ประมาณการณ์กันว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินของโลก 75 เปอร์เซ็นต์ของผืนดินที่เป็นที่พำนักอาศัย และ 9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของโลก ล้วนแต่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาทั้งนั้น ซึ่งในข้อนี้ก็ช่วยอธิบายให้เราได้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดในเขตปานกลางเหนือจึงยังคงมีบทบาทโดดเด่นบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ