ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีหัวใจ
ทฤษฎีที่ว่ารัฐซึ่งสามารถครอบครองทรัพยากรทางมนุษย์และทางกายภาพของผืนแผ่นดินใหญ่ในยูเรเซียซึ่งอยู่ระหว่างเยอรมนีกับไซบีเรียตอนกลางได้ก็จะอยู่ในฐานะครอบครองโลกได้ ทฤษฎีหัวใจนี้ได้รับการพัฒนาโดยนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด เจ. แมคคินเดอร์ (1869-1947) ในบทความของเขาชื่อ“หัวใจทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์”(1904) และในงานเขียนที่โด่งดังของเขา คือ อุดมคติประชาธิปไตยและความเป็นจริง: การศึกษารัฐศาสตร์ของการฟื้นฟู (1919) ทฤษฎีหัวใจนี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะผลจากการที่แมคคินเดอร์ได้ทำการศึกษาสัมพันธภาพในระดับโลกระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเล
ความสำคัญ แมคคินเดอร์ได้ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาว่า มีข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์บางอย่างมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อแนวทางของการเมืองโลก ข้อเท็จจริงที่เขาพูดถึงนี้ ได้แก่ (1) มี“เกาะโลก” (ยุโรป,เอเชีย และแอฟริกา) อยู่ล้อมรอบ”ดินแดนหัวใจ” หรือ”พื้นที่หัวใจ” ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากทางทะเล (2) มีดินแดนชายฝั่งทะเลของเกาะโลกนี้ คือ “ดินแดนภายใน” หรือ”ดินแดนเกือบเป็นรูปวงเดือน” ประกอบกันเป็นมหาอำนาจทางทะเล และ (3) มีฐานอำนาจของเกาะ ประกอบด้วย อเมริกาเหนือและใต้ กับออสเตรเลีย เรียกว่า “อินซูลาร์” หรือ”วงเดือนรอบนอก” แมคคินเดอร์มีสมมติฐานว่า มหาอำนาจทางบกจะเจริญเติบโตข้นเรื่อยๆจนเข้าครอบงำมหาอำนาจทางทะเล เขาจึงได้เตือนไว้ว่า “ใครครอบครองยุโรปตะวันออกได้ก็จะครอบครองดินแดนหัวใจ;ใครครอบครองดินแดนหัวใจได้ก็จะครอบครองเกาะโลก; ใครครอบครองเกาะโลกได้ก็จะครอบครองโลก” แมคคินเดอร์ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเลทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ในฐานะที่จะเข้าครอบงำดินแดนหัวใจนั้นได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แมคคินเดอร์ได้ปรับปรุงทฤษฎีของเขาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ศึกษาพัฒนาการอานุภาพทางทะเลและการเติบโตทางอำนาจชาติของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ภายนอกเกาะโลกนั้น ในปี ค.ศ. 1919 เขาได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากเยอรมนีสามารถครอบครองสหภาพโซเวียตได้ และเมื่อปี ค.ศ. 1943 เขาก็ได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากสหภาพโซเวียตสามารถครอบครองเยอรมนีได้ แนววิเคราะห์ของแมคคินเดอร์นี้ก็ยังสามารถนำมาใช้กับโลกปัจจุบันได้โดยใช้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์ หรือใช้อธิบายถึงผลที่จะตามมาจากการรวมตัวอย่างใกล้ชิดของสหภาพโซเวียตและจีน
No comments:
Post a Comment