การปฏิวัติทางกสิกรรม
การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการผลิตทางเกษตรกรรมที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อทศวรรษหลังปี 1960 โดยวิธีพัฒนาเมล็ดข้าวสาลีและเมล็ดข้าวเจ้าที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์ใหม่ๆตลอดจนมีการใช้น้ำและปุ๋ยในปริมาณมากๆด้วย การปฏิวัติทางกสิกรรมได้ถูกกรุยทางโดยนักพันธุกรรมศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลชื่อ นอร์แมน อี.บอร์ลาค โดยเขาได้ริเริ่มการทดลองต่างๆจนได้พันธุ์พืชพันธุ์ใหม่เหล่านี้เป็นคนแรก ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาอาหารมาช่วยขจัดวงจรแห่งความอดอยากหิวโหยของประชากรในประเทศกลุ่มโลกที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศต่างๆในแถบเอเชียและแอฟริกา
ความสำคัญ ความสำเร็จในช่วงแรกๆของการปฏิวัติทางกสิกรรม คือ การทำให้การผลิตอาหารในหลายประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริการะหว่างทศวรรษหลังปี 1960 เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่าก็มีเป็นสามเท่าก็มี ในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี 1970 และทศวรรษหลังปี 1980 แม้ว่าจะต้องใช้ต้นทุนของพลังงานสูงขึ้นมามากเพื่อผลิตปุ๋ยและสูบน้ำ แต่การผลิตอาหารก็ได้เพิ่มขึ้นมามากอีกเช่นกัน อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดความแห้งแล้งในบางพื้นที่ก็ได้ทำให้ผลผลิตลดน้อยลงไปบ้าง พอถึงปลายทศวรรษหลังปี 1980 ผลผลิตทางเกษตรกรรมในทวีปแอฟริกาไม่พอกับจำนวนประชากรที่เกิดขึ้นมามากเหลือเกิน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในขณะนี้กำลังพยายามจะทำการปฏิวัติทางกสิกรรมเป็นครั้งที่สอง เพื่อนำมาใช้กับโลกที่กำลังขาดแคลนพลังงานอย่างเช่นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขากำลังพัฒนาพันธ์พืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตผลผลิตปีละสองหนแทนที่จะเป็นหนเดียวอย่างแต่ก่อน นอกจากนั้นแล้วพวกเขาก็ยังได้พยายามหาหญ้าและต้นไม้ต่างๆมาทดลองปลูกปนไปกับข้าวสาลีและข้าวเจ้าเพื่อให้หญ้าและพืชเหล่านี้เป็นปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับข้าวสาลีและข้าวเจ้านั้น ความพยายามที่จะปฏิวัติทางกสิกรรมครั้งที่สองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในระดับโลกที่จะพัฒนาวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนประชากรที่มีอัตราการเกิดมากกว่าการตายจนทำให้ประชากรล้นโลกอยู่ในปัจจุบัน
No comments:
Post a Comment