Google

Tuesday, October 6, 2009

Geopolitics: Rimland Theory

ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีขอบนอก

ทฤษฎีที่เน้นย้ำว่าดินแดนขอบนอกต่างๆของยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ และตะวันออกไกลเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีขอบนอกนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยนักภูมิศาสตร์และนักภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ นิโคลาส เจ. สปิ๊กแมน (1893-1943) ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ภูมิศาสตร์แห่งสันติภาพ(1944) สปิ๊กแมนได้พัฒนาทฤษฎีโดยอิงแนวความคิดในเรื่องขอบนอกนี้ทั้งนี้โดยสอดประสานไปกับแนวความคิดเรื่องวงเดือนรอบในของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด แมคคินเดอร์ เพียงแต่ได้ดัดแปลงและเรียกชื่อเสียใหม่เท่านั้นเอง สปิ๊กแมนมีข้อสมมติฐานว่า การครอบงำดินแดนขอบนอกเหล่านี้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยมหาอำนาจที่เป็นศัตรูจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เพราะว่าจากจุดนั้นไปจะทำให้มหาอำนาจนั้นมีสถานะที่สามารถโอบล้อมโลกใหม่ไว้ได้ สปิ๊กแมนได้ดัดแปลงแก้ไขถ้อยคำอันโด่งดังของแมคคินเดอร์เสียใหม่เป็นว่า “ใครครอบครองดินแดนขอบนอกก็จะครอบครองยูเรเซียได้; ใครครอบครองยูเรเซียได้ก็จะครอบครองชะตากรรมของโลกได้”

ความสำคัญ ในการพัฒนาทฤษฎีขอบนอกนี้ สปิ๊กแมนได้ให้ความสนใจที่จะให้สหรัฐยอบรับในสิ่งต่อไปนี้ คือ (1) ให้แต่ละรัฐรับผิดชอบต่อความมั่นคงของตนเองในขั้นสุดท้าย (2) ให้ความสำคัญต่อดุลอำนาจโลก และ(3) ความจำเป็นที่จะต้องเพื่มพูนอำนาจของสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างเสถียรภาพดุลอำนาจโลกดังกล่าว ในการวิเคราะห์ปัจจัยของความมั่นคงของสหรัฐอเมริกานี้ได้นำปัจจัยต่างๆมาพิจารณาอย่างกว้างขวางดังนี้ คือ (1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ที่ตั้ง, ขนาด, ภูมิประเทศ (2) ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ทรัพยากรทางการเกษตรและทรัพยากรทางด้านอุตสาหกรรม, ประชากร, การผลิตทางอุตสาหกรรม และ (3) ปัจจัยทางการเมือง กล่าวคือ ขวัญของชาติ, เสถียรภาพทางการเมือง และบูรณาการทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้สปิ๊กแมนจึงมิได้ใช้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างเดียวมาวิเคราะห์ เพียงแต่เขาได้เน้นย้ำว่าภูมิศาสตร์เป็น”ปัจจัยสร้างเงื่อนไขสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศ”

No comments:

Post a Comment