Google

Tuesday, October 6, 2009

Oder – Neisse Line

เส้นออเดอร์-นีสเซ

เส้นพรมแดนโดยพฤตินัยที่ได้ตกลงกันระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับโปแลนด์เมื่อตอนยุติสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นออร์เดอร์นีสเซตั้งตามชื่อของแม่น้ำสองสายคือแม่น้ำออเดอร์และแม่น้ำนีสเซที่ใช้เป็นเส้นปันเขตแดนของสองประเทศดังกล่าวจากทะเลบอลติกตอนใต้เรื่อยขึ้นไปจนจรดพรมแดนของเชโกสโลวะเกีย พวกผู้แทนของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรได้ประชุมกันที่เมืองปอตสดัมเมื่อปี ค.ศ. 1945 เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆรวมถึงเรื่องการดำเนินการกับเยอรมนีเป็นการชั่วคราว และแนวปฏิบัติในการร่างสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้าย ซึ่งพวกผู้แทนฝ่ายพันธมิตรได้ตกลงกันว่า ปรัสเซียตะวันออกทางด้านเหนือๆจะถูกผนวก”ในหลักการ” โดยสหภาพโซเวียต และว่า เมื่อได้ตกลงกันในเรื่องพรมแดนครั้งสุดท้ายแล้ว ก็จะให้ปรัสเซียตะวันออกทางตอนใต้ๆและดินแดนเยอรมีที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเส้นเขตแดนแม่น้ำ”อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐโปแลนด์” นอกจากนั้นแล้วฝ่ายพันธมิตรก็ยังได้ตกลงกันด้วยว่า จะใช้”หลักความเป็นระเบียบเรียบร้อยและหลักมนุษยธรรม”ที่จะโยกย้ายคนสัญชาติเยอรมันออกไปจากโปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และฮังการี เส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้ได้รับการรับรองจากทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งแรกในข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิเมื่อปี ค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กลุ่มประเทศตะวันออกและกลุ่มประเทศตะวันตกยอมรับสถานภาพเดิมในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความสำคัญ สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี ค.ศ. 1945 แต่ว่าเส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้ยังคงเป็นประเด็นในความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกโดยทั่วไปและในความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์โดยเฉพาะ สงครามเย็นที่เกิดขึ้นมาได้ส่งผลให้แบ่งแยกเยอรมนีโดยพฤตินัยออกเป็น 2 ส่วน คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมนีตะวันตก) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน(เยอรมนีตะวันออก) แต่ด้วยเหตุที่มิได้มีการเจรจากันในเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้าย ดินแดนเยอรมันที่อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำออเดอร์และนีสเซ จึงได้ถูกผนวกโดยสหภาพโซเวียตและโปแลนด์ และในขณะเดียวกันคนเยอรมันราวสิบล้านคนก็ได้ถูกบังคับให้อพยพเข้าไปอยู่ในเยอรมนีตะวันออก แต่ในท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้เกือบจะทั้งหมดได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมนีตะวันตก) ถึงแม้ว่าข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิจะมิได้มีผลบังคับเหมือนกฎหมายระหว่างประเทศเพราะเป็นแต่เพียงข้อตกลงทางการทูตมิได้เป็นสนธิสัญญา กระนั้นก็ดีข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้ก็ส่อแสดงว่า การรณรงค์ที่กระทำกันมายาวนานของเยอรมนีตะวันตกเพื่อให้มีการรวมเยอรมนีทั้งสองฟากเข้าด้วยกันอาจจะยุติลงก็ได้ การรับรองเยอรมนีตะวันออกในทางการทูตโดยทุกประเทศของกลุ่มตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกา และการยอมรับให้เยอรมนีตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทำให้เส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้เป็นเส้นพรมแดนหลักอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จวบจนกระทั่งเยอรมนีทั้งสองฟากได้รวมประเทศสำเร็จในช่วงทศวรรษปี 1990

No comments:

Post a Comment