Google

Tuesday, October 6, 2009

Geopolitics: Sea Power Theory

ภูมิรัฐศาสตร์:ทฤษฎีอำนาจทางทะเล

ทฤษฎีที่มีสมมติฐานว่าอำนาจทางเรือจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่อำนาจโลกได้ อำนาจทางทะเลในฐานะเป็นรากฐานของทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยนายทหารเรือชาวอเมริกันชื่อว่า พลเรือเอก อัลเฟรด ทาเยอร์ มาฮาน (1840-1914) โดยผ่านทางแนวความคิดของเขาว่า ทะเลต่างๆของโลกทำหน้าที่เชื่อมผืนแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกันยิ่งกว่าที่จะไปแยกมันออกจากกัน ดังนั้นการแสวงหาและการปกป้องจักรวรรดิต่างๆในโพ้นทะเลจะกระทำได้ก็ต้องอาศัยความสามารถในการควบคุมทะเล ลักษณะสำคัญของงานเขียนของพลเรือเอกมาฮานมีดังนี้ (1) เป็นการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางเรือของอังกฤษที่อธิบายถึงบทบาทของบริเตนใหญ่(อังกฤษ) ในฐานะเป็นมหาอำนาจโลก (2) มีความยึดมั่นต่อแนวความคิดว่าภารกิจในระดับโลกของสหรัฐอเมริกาจะดำเนินไปได้ก็โดยการขยายอำนาจไปยังภาคโพ้นทะเล และ(3) การหาเหตุผลมาอ้างว่าจักรวรรดินิยมเป็นสิ่งสมควรโดยมีสมมติฐานว่า ประเทศต่างๆจะอยู่นิ่งๆในด้านเทศะไม่ได้ แต่จะต้องขยายตัวออกไปมิฉะนั้นแล้วก็จะเสื่อมสลายไปได้

ความสำคัญ การใช้ทฤษฎีอำนาจทางทะเลมาวิเคราะห์สหรัฐอเมริกานี้มีรากฐานมาจากทัศนะของพลเอกมาฮานที่เห็นว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกามีข้อคล้ายคลึงกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบริเตนใหญ่(อังกฤษ) มาฮานเห็นว่ามหาอำนาจทางบกของยุโรปพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งไม่สามารถท้าทายความยิ่งใหญ่ทางทะเลของบริเตนใหญ่หรือของสหรัฐอเมริกาได้เพราะว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทางบกที่ยิ่งใหญ่มากจึงจะทำได้ มาฮานได้สรุปลงว่า ความยิ่งใหญ่ทางเรือของอังกฤษไม่ยั่งยืนถาวรและว่า สหรัฐอเมริกาสามารถสถาปนาความยิ่งใหญ่ของตนขึ้นมาในทะเลคาริบเบียนและในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ หนังสือของมาฮานที่ชื่อ อิทธิพลของอำนาจทางทะเลต่อประวัติศาสตร์ ระหว่างปี ค.ศ.1660-1783 (1890) นี้มีนักนิยมขยายดินแดนหลายชั่วคนนำมาอ่านกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและในเยอรมนี ความคิดของมาฮานยังคงมีความสอดคล้องต้องกันในประเด็นที่ว่า รัฐต่างๆที่มีผลประโยชน์กระจายอยู่ทั่วโลกนั้นจะต้องมีความสามารถที่ส่งกำลังและใช้อำนาจของตนอย่างมีประสิทธิผลในที่ใกลมากๆจากดินแดนเมืองแม่ของตน

No comments:

Post a Comment