Google

Tuesday, October 6, 2009

Geopolitics

ภูมิรัฐศาสตร์

แนวทางนโยบายต่างประเทศที่พยายามอธิบายและพยากรณ์พฤติกรรมทางการเมืองและขีดความสามารถทางด้านการทหารในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ด้วยเหตุนี้ภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นนิยัตินิยมทางประวัติศาสตร์ที่อิงอาศัยภูมิศาสตร์ในระดับต่างๆ ฟรีดริช รัตเซล(1724-1804) ได้เปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ออกไปมิฉะนั้นก็จะต้องตาย สานุศิษย์ของรัตเซล ชื่อ รูดอล์ฟ เจลเลน(1864-1922) ก็ได้ดำเนินรอยตามกระบวนการเปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์นี้โดยกล่าวว่ารัฐเป็นอะไรมากไปกว่าแนวความคิดทางกฎหมาย เจลเลนได้พัฒนากฎเกณฑ์ว่าด้วยรัฐโดยกล่าวว่าเป็น ”อินทรีย์ทางภูมิศาสตร์ในเทศะ” และได้ตั้งชื่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่า”ภูมิรัฐศาสตร์” ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ รัฐในฐานะที่เป็นรูปแบบแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง (1916) หลักการของภูมิรัฐศาสตร์นี้ถึงแม้จะสร้างทฤษฎีโดยอิงภูมิศาสตร์และมีการนำเสนอในแง่ของการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งโฆษณาชวนเชื่ออยู่มากมาย เกียรติภูมิของภูมิรัฐศาสตร์เสื่อมเสียไปมากเพราะนักภูมิรัฐศาสตร์อย่างเช่น คาร์ล เฮาโชเฟอร์(1869-1946)มักจะให้การสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายแห่งชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพวกเขาจะพยายามอธิบายหรืออ้างเหตุผลให้การสนับสนุนในแง่ของการอ้างเหตุผลโดยอิงหลักภูมิศาสตร์ ศัพท์ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ นี้ก็ยังอาจจะนำไปใช้เพื่ออธิบายภูมิศาสตร์การเมืองที่พิจารณาในแง่ของโครงสร้างของโลกและรัฐที่เป็นองค์ประกอบของโลก หรืออาจจะใช้หมายถึงการวางแผนนโยบายต่างประเทศในรูปแบบที่นำองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ต่างๆมาใช้เป็นข้อพิจารณา


ความสำคัญ เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆมักจะเกิดในบริบททางภูมิศาสตร์ และองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์อาจมีอิทธิพลต่อกระแสของเหตุการณ์ได้ แต่ตัวมนุษย์เรานี่เองไม่ใช่ภูมิศาสตร์ที่ไหนที่เป็นผู้สร้างเหตุการณ์ทางการเมือง ภูมิศาสตร์คือส่วนผสมขององค์ประกอบต่างๆ เช่น ขนาด ที่ตั้ง ภูมิอากาศ และภูมิประเทศเท่านั้นเอง นอกจากนี้แล้วภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งแต่ก็มิใช่ว่าจะเป็นปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวโดยลำพังของอำนาจชาติ ความสำคัญของภูมิศาสตร์มีความสัมพันธ์กับข้อพิจารณาอื่นๆ เป็นต้นว่า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี พลังมนุษย์ และขวัญด้วย การที่เราจะตีค่าปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้โดยพิจารณาเข้าด้วยกันว่าเป็นสมการอำนาจชาติได้นั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำไปสัมพันธ์กับสมการอำนาจของรัฐอื่นๆโดยพิจารณาในบริบทของห้วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เป็นสิ่งที่นักปฏิบัตินโยบายต่างประเทศจะต้องนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์นี้จะเป็นปัจจัยคงที่อยู่ตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น การมีพรมแดนติดต่อกับรัฐอื่นโดยไม่มีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาตินั้นจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐนั้นก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันเสมอไป สภาพน้ำแข็งในขั้วโลกอาจจะเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติทำให้รัฐที่อยู่ในอาณาบริเวณนั้นไม่สามารถพัฒนาเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้ แต่สภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางรัฐเช่นนี้พัฒนาเป็นมหาอำนาจทางอากาศแต่อย่างใด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์มีลักษณะไม่ผิดอะไรไปจากทฤษฎีที่ใช้เหตุผลอย่างเดียวในการตีความทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายอย่างเช่นนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจเป็นต้น คือ ไม่สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจได้ อย่างไรก็ดีทฤษฎีทางภูมิศาสตร์นี้เป็นแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ศึกษาการเมืองระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนได้อย่างกว้างไกลได้ดียิ่งขึ้น

No comments:

Post a Comment